หน้าเว็บ

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม


วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2562

ครีมตรีผลา จากงานวิจัย สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพรครีมบำรุงผิว ทำให้ผิวกระจ่างใส

 ผลงานวิจัยเพื่อสังคม

ครีมตรีผลา จากงานวิจัย สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพรครีมบำรุงผิว ทำให้ผิวกระจ่างใส

นพมาศ สุนทรเจริญนนท์

ที่มา

ปัจจุบันคนไทยมักเกิดฝ้า กระ หรือริ้วรอยหมองคล้ำ อันเนื่องมาจากรังสีอุลตร้าไวโอเลตเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทำให้ผิวขาวจากสารธรรมชาติได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสารทำให้ผิวขาวหลายชนิดจะมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสและ/หรือฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ จึงส่งผลให้การสร้างเมลานินในผิวหนังลดลงและทำให้ผิวพรรณกระจ่างใสขึ้นกว่าเดิม  สารสกัดจากธรรมชาติที่ทำให้ผิวกระจ่างใส ได้แก่ สารสกัดเปลือกสน สารสกัดเมล็ดองุ่น สารสกัดเมล็ดลำไย สารสกัดเมล็ดลิ้นจี่ สารสกัดรังไหม สารสกัดใบหม่อน สารสกัดแก่นมะหาด สารสกัดผลมะขามป้อม และสารสกัดรากชะเอมเทศ เป็นต้น สารสกัดจากธรรมชาติเหล่านี้มีศักยภาพสูงในการนำไปเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทำให้หน้าขาว

ผิวหนังมีสีคล้ำขึ้นได้อย่างไร

ผิวหนังที่ปกคลุมร่างกายมีเม็ดสี ที่เรียกว่า “เมลานิน” ทำหน้าที่ปกป้องผิวหนังจากการถูกทำลายด้วยแสงแดด และเป็นสารสำคัญที่ทำให้เกิดสีที่ผิวหนัง  สีผิวของคนเราจะแตกต่างกันแล้วแต่เชื้อชาติและกรรมพันธุ์ โดยอาศัยกระบวนการในการสร้างเม็ดสีในร่างกาย เรียกว่า melanogenesis  เมลานินถูกสร้างในออกาแนลสีน้ำตาลที่มีชื่อว่า melanosome ที่อยู่ใน cytoplasm ของเซลล์สร้างเม็ดสี (melanocyte) และมีเอนไซม์ที่มีทองแดงเป็นส่วนประกอบอยู่ในโมเลกุล ชื่อ tyrosinase  เป็นตัวสำคัญในการควบคุมการสร้างเมลานินโดยเป็นเอนไซม์ออกซิเดส ที่จะช่วยเร่งปฏิกิริยาออกซิเดชันของ tyrosine เป็น dopa และ dopa เป็น dopaquinone ด้วยปฏิกิริยา oxidation และ dehydrogenation ตามลำดับ ตามด้วยการเปลี่ยน dopaquinone ผ่าน intermediate อีกหลายตัวแล้วเกิด polymerization ให้สารที่ไม่ละลายที่สามารถจับกับโมเลกุลของโปรตีนได้อย่างแน่นหนาโดย sulhydryl bond เกิดเป็น melanoprotein melanin polymer ทำให้สีผิวเข้มขึ้น1

สารที่ใช้เป็น Whitening agent (Lightening agent)

สารจากธรรมชาติที่มีฤทธิ์ทำให้ผิวขาว (Whitening agent) สามารถแบ่งได้ตามกลไกทางชีวเคมี ดังนี้
  1. กดความสามารถของเอนไซม์ไทโรซิเนส ได้แก่ สารกลุ่ม lactic acid และ lactates ซึ่งเป็นกรดชนิดหนึ่งในกลุ่มกรด AHA (Alpha-hydroxy acid) ที่ทำมาจากนม สาร isoimperatorin และ imperatorin เป็นสารที่สกัดจาก โกฐสอ (Angelica dahurica)
  2. ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส ได้แก่ สาร ?-Arbutin สกัดจาก bearberry (Arctostaphylos uva ursi) เป็น hydroquinone glycoside ชนิดหนึ่ง มีฤทธิ์ดีกว่า kojic acid และ วิตามินซี (ascorbic acid) สาร kojic acid เป็นผลผลิตจาก fungal metabolite สารสกัดจากรากของ Paper mulberry (Broussonetia kazinoki B. papyrifera, วงศ์ Moraceae) สาร ellagic acid เป็นสารที่ได้มาจากทับทิม และเมล็ดลำไย และสาร curcurmin และอนุพันธ์กึ่งสังเคราะห์ คือ tetrahydrocurcurmin เป็นสารสกัดจากขมิ้นชัน (Curcuma longa L.) ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์เอนไซม์ไทโรซิเนสและมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย2-11


สารต้านอนุมูลอิสระ

อนุมูลอิสระ คือ อะตอมหรือโมเลกุลที่มีอิเล็คตรอนไม่เป็นคู่ อยู่ในวงอิเล็คตรอนวงนอกสุด (outer orbital) เนื่องจากการมีอิเล็กตรอนที่โดดเดี่ยว (unpaired electron) อยู่ในวงโคจรของโมเลกุลทำให้ไม่เสถียร ทำให้อนุมูลอิสระเป็นสารที่มีความไวในการเข้าทำปฏิกิริยาทางเคมีกับสารอื่นสูงมาก โดยอนุมูลอิสระจะไปแย่งจับหรือดึงเอาอิเล็กตรอนจากโมเลกุลหรืออะตอมสารที่อยู่ข้างเคียงเพื่อให้ตัวมันเสถียร โมเลกุลที่อยู่ข้างเคียงที่สูญเสียหรือรับอิเล็กตรอนจะกลายเป็นอนุมูลอิสระชนิดใหม่ ซึ่งอนุมูลอิสระที่เกิดมาใหม่นี้จะไปทำปฏิกิริยากับสารโมเลกุลอื่นต่อไป เกิดเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ (chain reaction) ต่อกันไปเรื่อยๆ โดยที่อนุมูลอิสระก็มีสมบัติเหมือนสารทั่วๆไป ตรงที่ความสามารถในการเข้าทำปฏิกิริยากับสารอื่นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามอุณหภูมิ ความเป็นกรดด่าง (pH) และความชื้น เป็นต้น  เชื่อกันว่าอนุมูลอิสระ มีผลต่อการอักเสบ และการทำลายเนื้อเยื่อในระยะสั้น ระยะยาว อาจมีผลต่อความเสื่อมหรือการแก่ของเซลล์ และอาจเป็นสารก่อมะเร็ง และโรคหัวใจ ต้อกระจก  สารต้านอนุมูลอิสระพบได้มากในผักและผลไม้บางชนิด จึงมีการสนับสนุนให้ทานสิ่งเหล่านี้เพิ่มมากชึ้น โดยมีความเชื่อว่าอาจลดภาวะโรคต่างๆดังกล่าว และลดความแก่ ความเสื่อมของเซลล์ ในมิติของเครื่องสำอาง เชื่อว่าเครื่องสำอางที่ประกอบด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ จะมีส่วนช่วยบำรุงผิว ทำให้ผิวเต่งตึง ไม่เหี่ยวย่นก่อนวัยอันควร12

ครีมตรีผลา

สมุนไพรตรีผลา ประกอบด้วยสมุนไพร 3 ชนิด ได้แก่ สมอไทย สมอพิเภก และมะขามป้อม เป็นสมุนไพรกลุ่มใหม่ที่สามารถจะนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวพรรณ และทำให้ผิวกระจ่างใสได้ ทั้งนี้เนื่องจากสมุนไพรทั้งสามชนิดนี้มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดี ซึ่งจากผลงานวิจัยของ นพมาศ สุนทรเจริญนนท์และคณะ (2547) พบว่าสารสกัดน้ำของสมุนไพรตรีผลามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (ในหลอดทดลอง) ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน BHT, BHA, vitamin C  นอกจากนี้ยังพบว่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราที่ก่อเกิดโรคที่ผิวหนังได้ และสมุนไพรตรีผลาเป็นสมุนไพรที่มีการใช้อย่างมากในประเทศอินเดีย เป็นตำรับยาอายุรเวท ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงร่างกายและอีกหลายโรค ในประเทศไทยมีสมุนไพรตรีผลาที่สามารถพบได้ในป่า และพื้นที่ปลูกทั่วประเทศ ถือได้ว่าเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง  มะขามป้อม เป็นสมุนไพรที่มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และต้านเอนไซม์ไทโรซิเนส มากกว่าสมอไทย และสมอพิเภก ปัจจุบันในท้องตลาดก็มีผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของมะขามป้อมเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นส่วนผสมของสมุนไพรทั้ง 3 ชนิด (ตรีผลา) ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงมุ่งวิจัยครีมตรีผลาเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ทำให้ผิวกระจ่างใส เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์อีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้บริโภค งานวิจัยนี้ได้ทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและเอนไซม์ไทโรซิเนสของสมุนไพรตรีผลา คือ มะขามป้อม (Phyllanthus emblica L.), สมอไทย (Terminalia chebula Retz.) และ สมอพิเภก (Terminalia bellirica Roxb.) พบว่าสมุนไพรทั้ง 3 ชนิด มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้น้อยกว่าสารเปรียบเทียบเล็กน้อย (Vitamin C) โดยมะขามป้อมมีฤทธิ์ดีที่สุด (ค่า ED50 ของ Vitamin C, มะขามป้อม, สมอพิเภก, และสมอไทย เท่ากับ 1.78, 2.28, และ 5.06 ?g/ml, ตามลำดับ) และมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสได้น้อยกว่าสารมาตรฐาน kojic acid โดยสมอพิเภกมีฤทธิ์ดีที่สุด (ค่า ED50 ของ kojic acid, สมอพิเภก, สมอไทย, มะขามป้อม เท่ากับ 0.04, 1.18, 1.50, 1.75 ?g/ml, ตามลำดับ) และผลตรวจสอบทางเคมีเบื้องต้นพบว่า สมุนไพรทั้ง 3 ชนิด ประกอบด้วยสารกลุ่ม hydrolyzable tannins, alkaloids และ coumarins และปริมาณสาร gallic acid (โดยวิธี High Pressure Liquid Chromatography) ในสารสกัดมะขามป้อม สมอพิเภก และสมอไทย มีค่าเท่ากับ11.72, 6.90, 3.88%w/w ตามลำดับ หลังจากนั้นเตรียมสารสกัดตรีผลาเป็น 2 สูตร คือ สูตรที่ 1 ประกอบด้วย มะขามป้อม:สมอพิเภก:สมอไทย อัตราส่วน 3:2:1 และสูตรที่ 2 อัตราส่วน 1:1:1 แล้วนำไปทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส พบว่า สูตรที่ 1 มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส ได้ดีกว่าสูตรที่ 2 สารสกัดตรีผลาสูตรที่ 1 มี % gallic acid เท่ากับ 9.86 % สูตรที่ 2 มีปริมาณ 8.43 %  ส่วนการเตรียมครีมตรีผลา ได้เตรียมด้วยกระบวนการที่ใช้ความร้อน และไม่ใช้ความร้อน โดยเตรียมเป็น 4 ความเข้มข้นคือ 0.05%, 0.1%, 0.2% และ 0.5% แล้วทดสอบลักษณะทางกายภาพและเคมีของตำรับครีมตรีผลา และทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ พบว่าตำรับครีมตรีผลา สูตรที่ 1 ความเข้มข้น 0.2% มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงสุด และเหมาะเป็นครีมที่จะพัฒนาต่อไปเป็นครีมบำรุงผิว ทำให้ผิวกระจ่างใส13 งานวิจัยนี้ถือได้ว่าเป็นงานวิจัยที่ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพรที่มีในประเทศไทย เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสมุนไพร และเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศให้ยังอยู่ต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  1. นันทนา พฤกษ์คุ้มวงศ์, บรรณาธิการ.  การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางผิวหนัง.  กรุงเทพฯ: อาร์พิดดี, 2533.
  2. วิฑูรย์ กรชาลกุล สมศักดิ์ ปราชญ์วัฒนกิจ.  การตั้งตำรับครีมช่วยให้หน้าขาว.  โครงการพิเศษปริญญาเภสัชศาสตร์บัณฑิต.  กรุงเทพฯ: คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2534.
  3. Smit N, Vicanova J, Pavel S.  The hunt for natural skin whitening agents.  Int J Mol Sci 2009; 10: 5326-49.
  4. Cho YH, Kim JH, Park SM, Lee B, Pyo HB, Park HD.  New cosmetic agents for skin whitening from Angelica dahurica.  J Cosmet Sci 2006; 57(1): 11-21.
  5. Boissy RE, Visscher M, Delong MA.  Deoxy arbutin: a novel reversible tyrosinase inhibitor with effective skin lightening potency.  Exp Dermatol 2005; 14(8): 601-8.
  6. Nohynek GL, Kirkland D, Marzin D, Toutain H, Leclerc-Ribaud C, Jinnai H.  An assessment of the genotoxicity and human health risk of topical use of kojic acid.  Food Chem toxicol 2004; 42(1): 93-105.
  7. Shibuya T, Murota T, Sakamoto K, Ivahara H, Ikino M.  Mutagenicity and dominant lethal test of kojic acid.  J Toxicol Sci 1998; 7(4): 255-62.
  8. Kameyama K, Sakai C, Kondoh S.  Inhibitory effect of magnesium L-ascorbyl-2-phosphate (VC-PMG) on melanogenesis in vitro and in vivo.  J Am Acad Dermatol 1996; 34(1): 29-33.
  9. Wang CC, Wu SM.  Simultaneous determination of L-ascorbic acid, ascorbic acid-s-phosphate magnesium salt, and ascorbic acid-6-palmitate in commercial cosmetics by micellar electrokinetric capillary electrophoresis.  Anal Chim Acta 2006; 576(1): 124-9.
  10. Yoshimura M, Watanabe Y, Kasai K.  Inhibitory effect of an ellagic acid-rich pomegranate extract on tyrosinase activity and ultraviolet-induced pigmentation.  Biosci Viotechonol Biochem 2005; 69(12): 2368-73.
  11. วราภรณ์ จรรยาประเสริฐ.  เครื่องสำอางทำให้ผิวขาว.  กรุงเทพ: ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล; 2550.
  12. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ทบทวนเอกสาร. Avialiable at: http://archive.lib.cmu.ac.th/full/T/2551/biol0451tp_ch2.pdf . Accessed July, 15, 2013.
  13. ปฏิมา บุญมาลี  ปัทมา เทียนวรรณ.  ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและเอนไซม์ไทโรซิเนสของครีมตรีผลา.  โครงการพิเศษปริญญาเภสัชศาสตร์บัณฑิต.  กรุงเทพฯ: คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2556.
ที

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น