บานไม่รู้โรยป่า
บานไม่รู้โรยป่า ชื่อสามัญ Gomphrena weed, Wild globe everlasting[1]
บานไม่รู้โรยป่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Gomphrena celosioides Mart. จัดอยู่ในวงศ์บานไม่รู้โรย (AMARANTHACEAE)[1
ลักษณะของบานไม่รู้โรยป่า
- ต้นบานไม่รู้โรยป่า จัดเป็นไม้ล้มลุก แผ่กิ่งที่โคนต้น แตกกิ่งก้านสาขานอนราบไปกับพื้นดิน ส่วนปลายยอดและช่อดอกชูขึ้น มีความสูงได้ประมาณ 40 เซนติเมตร เปลือกลำต้นเป็นสีเขียวแกมขาว ไม่มียาง แต่มีขนยาวคล้ายสำลีขึ้นปกคลุมอย่างเห็นได้ชัด ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ แพร่กระจายพันธุ์มาสู่เขตร้อนที่อบอุ่นกว่า ในประเทศไทยมักพบขึ้นเป็นวัชพืชในพื้นที่เปิดโล่งมีแดดส่องถึง ตามที่รกร้างริมทาง ตามที่สาธารณะทั่วไป เช่นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ขอนแก่น พิษณุโลก นครราชสีมา สระบุรี กรุงเทพฯ เพชรบุรี กาญจนบุรี จันทบุรี และภาคใต้ทุกจังหวัด[2]
- ใบบานไม่รู้โรยป่า ใบเป็นใบเดี่ยว การเรียงตัวของใบบนกิ่งเป็นแบบตรงข้ามสลับตั้งฉาก ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับหรือรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่ม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว ผิวใบมีขนทั้งสองด้าน ผิวด้านบนมีขนขึ้นประปราย ส่วนผิวด้านล่างมีขนอุย[2]
- ดอกบานไม่รู้โรยป่า ออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่น แบบช่อเชิงลด โดยจะออกที่ปลายยอด ดอกย่อยมีจำนวนมาก กลีบเลี้ยงที่โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกออกเป็น 5 แฉก สีเขียว ส่วนกลีบดอกที่โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกออกเป็น 2 แฉก สีขาว เป็นหลอด ดอกมีเกสรเพศผู้สีเหลือง 5 อัน (เมื่อแก่เป็นสีน้ำตาล) ก้านชูเกสรสั้น ลักษณะของก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอดเยื่อบาง ๆ ส่วนเกสรเพศเมียเป็นสีเขียวมี 1 อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่ ไม่มีกลิ่น[2]
- ผลบานไม่รู้โรยป่า ผลเป็นผลเดี่ยว เมื่อผลแห้งแก่แล้วจะไม่แตก มีเปลือกแข็งและมีเมล็ดเดียว ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลถึงสีดำ ลักษณะของผลเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน ภายในมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดเป็นสีน้ำตาลมีลักษณะแบน ขนาดยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร[2]
สรรพคุณของบานไม่รู้โรยป่า
- ดอกนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ (ดอก)[2]
- ดอกนำมาต้มกับน้ำกินแก้ตาเจ็บ (ดอก)[3]
- ใช้เป็นยาแก้ไอ ไอกรน ระงับหอบหืด ด้วยการใช้ดอกนำมาต้มกับน้ำกิน (ดอก)[2],[3]
- ทั้งต้นใช้ผสมกับเถาเขี้ยวงู ลูกใต้ใบ สะเดาดิน และไมยราบเครือ นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้เบาหวาน (ทั้งต้น)[3]
- ใช้แก้เด็กเป็นโรคลมชัก ด้วยการใช้ดอก 10 ดอก นำมาตุ๋นกับตั๊กแตนแห้ง 7 ตัว ใช้รับประทานเป็นยา (ดอก)[2]
- ดอกนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้บิด (ดอก)[2]
- ต้นใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ขับนิ่ว (ต้น)[1] บ้างว่าใช้ดอกนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ (ดอก)[2],[3]
- รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ และช่วยขับนิ่ว (ราก)[1]
- ต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้กามโรค หนองใน (ต้น)[1]
- ใช้เป็นยาแก้ระดูขาวของสตรี (ต้น)[1]
- ลำต้นและดอกนำมาตำผสมรวมกันใช้เป็นยาพอกรักษาแผล (ลำต้นและดอก)[2]
- ช่วยรักษาแผลผื่นคัน (ดอก)[3]
การป้องกันและกำจัด
- รดน้ำให้ดินนิ่มแล้วทำการถอนให้โคนต้นหลุดออกมาจากดิน แต่หากมีจำนวนมากจนไม่สามารถถอนได้หมดในคราวเดียว ก็ให้ตัดต้นออกก่อนที่ดอกจะแก่ จะสามารถควบคุมการแพร่กระจายได้ในระดับหนึ่ง[1]
- ส่วนอีกวิธีคือการใช้สารเคมีกำจัดประเภทดูดซึม เช่น ไกลโฟเซต (48% เอสแอล) ในอัตราที่ใช้ประมาณ 70 – 80 ซี.ซี. นำมาผสมกับน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่ว และเพื่อให้ได้ผลในการกำจัดควรใช้ร่วมกับสารจับใบเพื่อการเกาะติดของสารเคมีกับใบพืช[1]
ประโยชน์ของบานไม่รู้โรยป่า
- มีความเชื่อว่า หากนำบานไม่รู้โรยป่ามาใช้ประดับในงานพิธีมงคลต่าง ๆ จะช่วยทำให้ชีวิตเจริญงอกงามแบบไม่โรยรา[2]
เอกสารอ้างอิง
- ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (นพพล เกตุประสาท). “บานไม่รู้โรยป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : clgc.rdi.ku.ac.th. [30 พ.ย. 2014].
- โรงเรียนละหานทรายรัชดาภิเษก. “บานไม่รู้โรยป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.lrp.ac.th. [30 พ.ย. 2014].
- งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนน้ำดิบวิทยาคม. “บานไม่รู้โรยป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.ndk.ac.th. [07 ต.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by SierraSunrise, 翁明毅, judymonkey17, Harry Rose), www.lrp.ac.th
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (MedThai)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น